วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551

ประวัติศูนย์การเรียนการสอนวัดญาณประทีป

ประวัติศูนย์การเรียนทางไกลนครโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์
(อดีตถึงปัจจุบัน)

วัดญาณประทีป นครโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เดิมเป็น Buddhist Residence ได้เริ่มจัดตั้งช่วงประมาณปี พุทธศักราช 2536 โดยมหามกุฏไทยบุดดิสท์ทรัสท์ พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อพุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์รับทราบว่ามีวัดญาณประทีป จึงชวนบุตรหลานของตนเข้าวัดทำบุญ ฟังธรรม และได้ประชุมประกอบศาสนกิจในวันอาทิตย์และวันสำคัญทางศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทางคณะผู้บริหารวัดญาณประทีปในสมัยนั้น ดำริที่จะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย สู่เด็กและเยาวชนตลอดถึงประชาชนชาติอื่น จึงได้ดำเนินการสอนภาษาไทยและศิลปวัฒนธรรมไทย โดยคณะสงฆ์และครูอาสาสมัคร
ต่อมาปี พ.ศ. 2539 พระเถรผู้ใหญ่จากประเทศไทยได้มาเยี่ยมวัดญาณประทีป ได้ทราบรายงานกิจกรรมของวัด เช่นการเรียนการสอนภาษาไทยและศิลปวัฒนธรรมไทย การเผยแผ่พระพระพุทธศาสนาโดยผ่านกระบวนการ การเรียนการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติเป็นต้น ทำให้เกิดความคิดที่จะนำเด็กและเยาวชนเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย เพื่อประโยชน์ต่อเด็กเมื่อกลับสู่มาตุภูมิได้มีวุฒิการศึกษา สามารถที่จะเรียนต่อในประเทศไทยได้ พระมหาวินัย อภิวินโย (พระกวีวรญาณ) ในฐานะเจ้าอาวาสวัดญาณประทีปและเป็นกรรมการมหามกุฏไทยบุดดิสท์ทรัส ได้นำเรื่องนี้ปรึกษากับพระครูวิบูลศีลโสภิต (พระวิบูลธรรมาภรณ์) รองอธิการบดีวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย พระครูวิบูลศีลโสภิตจึงได้ประสานงานไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานทูตไทยประจำประเทศนิวซีแลนด์ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการเพื่อขออนุญาตเปิดศูนย์การเรียนทางไกลสำหรับคนไทยในต่างประเทศ ภายในวัดญาณประทีป นครโอ๊คแลด์ ประเทศนิวซีแลนด์
ในปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ได้ส่งพระธรรมทูต 2 รูป (พระมหาวันชัย ปญฺญาวโร และพระมหานิวัฒน์ ขนฺติปาโล) มาช่วยดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยได้ทำโครงการเสนอผ่านยังสถานทูตไทยประจำประเทศนิวซีแลนด์ และได้รับการสนับสนุนด้วยดี จนกระทั่งได้รับการอนุมัติให้เปิดเป็นเป็นศูนย์การเรียนทางไกล นครโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลด์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2540 อันเป็นวันคล้ายวันประสูติของเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ เมื่อภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2540 มีนักเรียนทั้งหมด 35 คน ดำเนินการสอนโดยคณะพระธรรมทูตและครูอาสาสมัครท้องถิ่น รวม 7 ท่าน (พระมหาวันชัย ปญฺญาวโร, พระมหานิวัฒน์ ขนฺติปาโล, คุณกิ่งฟ้า บุศปพงศ์, พันโทปิยชาต เจริญผล, คุณจันโท ทุมมาคำ, คุณศิโรทัย บุษบงถ์, คุณกนกวรรณ ศรีธรรมยศ)
สถานการณ์การเรียนการสอนของศูนย์การเรียนทางไกลนครโอ๊คแลนด์ ได้เปิดการเรียนการสอนภายในวัดญาณประทีปและที่ฮอลล์ เนื่องจากวัดญาณประทีปได้ย้ายสถานที่ตั้งวัด เพื่อหาทำเลที่เหมาะสมและสามารถสร้างวัดได้อย่างถาวร ในปี พ.ศ. 2541 ย้ายจากบ้านเลขที่ 109 AIDATA RD., TE ATATU PENINSULA, AUCKLAND. มาอยู่ที่ บ้านเลขที่ 17 BRISTOL RD. WHENUPAI AUCKLAND. จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2546 ได้มาอยู่เลขที่ 99 SABULITE RD., KELSTON, AUCKLAND. ศูนย์การเรียนทางไกลก็ต้องย้ายตาม บางสถานที่ บางสถานการณ์ไม่สะดวกที่จะเรียนในวัดได้เนื่องจากสถานที่ไม่พร้อม เสียงรบกวนเพื่อนบ้าน ทางศูนย์ฯ ก็จะเช่าฮอลล์ ให้เป็นสถานที่เรียน ดังนั้นการเรียนการสอนจึงไม่ต่อเนื่องแต่ก็มีนักเรียนมาเรียนทุกครั้งที่ทางวัดเปิดการเรียนการสอน ทั้งนี้ก็เพราะว่า ได้รับความร่วมมือจาก คณะผู้ปกครองนักเรียนซึ่งได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็น สมาคมผู้ปกครองนักเรียน กศน.ขึ้น ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมด้วยดีเสมอมา
ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2550) ศูนย์การเรียนทางไกลนครโอ๊คแลนด์ได้มีการบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการ ดำเนินการบริหารเพื่อความมั่นคงของศูนย์ฯ และความสม่ำเสมอในการเปิดการเรียนการสอนและการขยายขอบเขตการบริการการศึกษาให้ทั่วถึงทุกกลุ่มชน เช่น การเปิดสอนวิชาชีพพิเศษให้กับประชาชนที่สนใจ โดยเน้นเปิดวิชาชีพที่มีผู้สนในจะเรียนและวิชาชีพนั้นๆ ต้องเป็นวิชาชีพที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันหรือการประกอบอาชีพ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งนี้ต้องอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศูนย์ฯ ที่จะทำได้ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของศูนย์ตามประกาศของกรมการศึกษานอกโรงเรียน เรื่องการจัดตั้งศูนย์การเรียนทางไกลนครโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2540 นั้นให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. เป็นสถานจัดและบริการกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ วิธีเรียนทางไกลให้กับคนไทยในนครโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์
2. เป็นแหล่งกลางในการรวบรวมข้อมูล ประสานงานและบริการวัสดุอุปกรณ์ และสื่อเสริมเกี่ยวกับการเรียนการสอน
3. แนะแนวส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน การใช้แหล่งงาน การใช้แหล่งความรู้ ในชุมชน ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ
4. เป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์งานการศึกษานอกโรงเรียน
ตามอำนาจหน้าที่นี้ ทางศูนย์ได้ดำเนินการในระดับหนึ่งซึ่งคาดว่าในปีต่อๆ ไป ทางศูนย์จะขยายการให้บริการทางการศึกษาให้มากที่สุด ควบคุมถึงบุคคลทุกระดับชั้น


ไม่มีความคิดเห็น: